Category: Features

  • วิกฤตชามตราไก่ จากมุมมองผู้บริหาร

    วิกฤตชามตราไก่ จากมุมมองผู้บริหาร

    จากที่ได้เป็นข่าวใหญ่กันตามน่าสื่อดังของประเทศไทยไป เรื่อง วิกฤตชามตราไก่ ของอุตสาหกรรมเซรามิกจังหวัดลำปาง อ้างอิง

    ซึ่งวันนี้แดนจะขอนำเสนอที่มาที่ไป ข้อมูล และปัญหา จากมุมมองของผู้บริหารบริษัทเซรามิกของลำปาง ถ้างั้นเรามาเริ่มกันเลยครับ

    ถ้าหากใครสงสัยว่า แดนเป็นใครมาจากไหน? รบกวนอ่านต่อในบทความ แดน กับโรงงานเซรามิกของครอบครัว

    รากของปัญหา

    การต้นทุนของการเข้าตลาดต่ำสู่วงจรอุบาทว์

    อุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปางมีต้นทุนของการเข้าตลาดต่ำ ทำให้ชาวบ้านที่เคยเป็นพนักงานในโรงงานเซรามิก เรียนรู้วิธีการผลิตแล้ว ก็นำวิทยาการแบบครูพักลักจำ ไปสร้างโรงงานขึ้นมา ในยุคนึงเราจึงเห็นโรงงานเซรามิกผุดขึ้นมาอย่างกับดอกเห็ด มีโรงงานเซรามิกมากถึง 300-400 โรงงานทั่วจังหวัดลำปาง ซึ่งแน่นอนว่า มันจึงเกิดปัญหาตามมาดังนี้

    การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

    ชาวบ้านที่ออกมาเปิดโรงงานใหม่ก็จะนำเอาแบบสินค้าที่ตนเองเห็นแล้วออกมาผลิตเอง ทั้งแบบสินค้า และลวดลายบนผลิตภัณฑ์ ซึ่งแบบผลิตภัณฑ์ และลวดลายต่าง ๆ ที่โรงงานใหญ่ ๆ คิดค้นมานั้นต่างมีต้นทุนที่สูง เนื่องจากมีค่าแรงงานของนักออกแบบ นักการตลาดที่ต้องออกไปวิจัยตลาด และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ไหนจะต้องเสียเวลาช่วงออกแบบ และการผลิตอีก ซึ่งมาถึงจุด ๆ นี้ ทุกคนอาจจะบอกว่า เรามีกฎหมายลิขสิทธิ์ ใช่ครับ! ประเทศไทยเรามีกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ที่ว่าด้วยเกี่ยวกับรูปปั้น แค่โรงงานเล็ก ๆ เอาไปทำซ้ำด้วยการเอียงคอเพียงเล็กน้อย กฎหมายลิขสิทธิ์ก็พร้อมที่จะไม่คุ้มครอง เรื่องนี้ผมเคยปรึกษากับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว กรมฯ ช่วยอะไรไม่ได้เลย ธุรกิจครอบครัวของแดนโดนละเมิดหนัก หนักมาก ๆ จนคุณพ่อท้อถอดใจไม่อยากออกแบบแล้ว เพราะออกแบบออกมาขายดี ก็โดนละเมิดทรัพย์ทางปัญญาหมด คนคิดมันเหนื่อยครับ

    การทุ่มราคา

    ชาวบ้านที่ออกมาเปิดโรงงานเองแต่ ไม่เคยเรียนรู้เรื่องการตลาดเลย แต่เมื่อผลิตสินค้าสู่ตลาดแต่ไม่มีคนซื้อเพราะ มีผู้เล่นหลักอยู่แล้วผู้เล่นรายใหม่ต้องการเข้าสู่ตลาดจะทำอย่างไร? แน่นอนว่า ก็ต้องลดราคาถูกไหม? แล้วยิ่งถ้าไปละเมิดลิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์มาด้วยต้นทุนยิ่งต่ำ ก็จะมีความสามารถลดราคาลงจนต่ำมาก พอลดราคาลงผู้เล่นเดิมในตลาดก็ลดราคาตาม มันเลยทุกให้ราคาตลาดของเซรามิกโดยรวมมันยุบตัวลง เพราะตอนนี้ผู้บริโภครู้แล้วว่า ต้นทุนมันถูก โดยธรรมชาติของคนไทยก็จะเกิดการต่อราคา ซึ่งการต่อราคา = การกดราคา พอโดนกดราคามาก ๆ เข้ามันก็ทำให้กิจการต่าง ๆ ไม่มีเงินทุนมาพัฒนาสินค้า พัฒนาธุรกิจต่อ ทำให้ตลาดเซรามิกในประเทศไทยไม่ค่อยมีสินค้าใหม่ ๆ ไม่มีนวัตกรรมออกมาวางขาย

    มันเป็นไปได้อย่างไร? เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทุกปี 1-3% แต่ราคาสินค้าไม่เคยขึ้นตามเลย

    นวัตกรรม

    แน่นอนครับ เงินทุนคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ถ้าขาดเงินทุนก็ไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ ทำให้เซรามิกเบา และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงได้

    หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยในการขยายตลาดก็มีเพียงบางกิจการที่ทำกันเท่านั่น

    โอกาส

    เมื่อมีใครให้โอกาสแดนคว้าหมด คว้าอันที่แดนไปไหว แต่โครงการปั้นแบรนด์ใหญ่ ๆ ของกรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ แดนเคยสมัครเข้าไป ได้แต่ไปนั่งฟังรอบแรก รอบ 2 ไม่เคยได้ เหมือนเอาเราไปถ่ายรูปสร้างภาพ แล้วกรรมการ และที่ปรึกษาโครงการ ก็จะอ้างว่า แบรนด์น้องยังไม่แข็งบ้างล่ะ ก็แบรนด์เราไม่แข็งไง เลยพยายามเข้าหาท่านเพื่อหาโอกาสขอโอกาส แต่ท่านก็ปฏิเสธเรามาโดยตลอด

    วัฒนธรรมราชการไทย

    เดี๋ยวคอยดูนะ กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ต้องออกมาตามสคริปนี้แน่นอน “ตลอดมา กรมไม่ได้นิ่งนอนใจ กรมมีมาตรการเยียวยาทางการค้าหลายมาตรการ ได้นำมาใช้ดำเนินการกับสินค้านำเข้าแล้ว เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่ม (เอดี) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน หรือมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด)” มาแนวนี้ค่อยดู แล้วด้วยความเคารพนะครับท่าน 10 ปีที่แล้ว ตอบยังไง? ผ่านมา 10 ปีก็ตอบอย่างงั้น? ตอบแบบปัด ๆ ไป แต่ทำไมของยังเกลื่อนล่ะครับ? ถ้าทำจริง ส่วนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็จะออกมาแนว ๆ ใครมีหลักฐานว่า “บริษัทนี้เป็นบริษัทต่างด้าว ส่งหลักฐานมาเดี๋ยวไปตรวจสอบ” สุดท้ายแล้วก็บอกว่า บริษัทที่ไปตรวจสอบไม่เป็นบริษัทต่างด้าว เพราะคนไทยถือหุ้นหมด

    แรงงาน

    หลังจากโดนกดราคาแล้ว กิจการไม่มีเงินทุนมาพัฒนาธุรกิจ พอไม่มีเงินทุนมาพัฒนาธุรกิจ ค่าจ้างแรงงานก็ไม่ค่อยขึ้น พอค่าแรงไม่เติบโต แรงงานรุ่นใหม่ก็หนีไปทำงานในอุตสาหกรรมอื่นหมด แล้วยิ่งซ้ำร้าย อุตสาหกรรมเซรามิกถูกจัดอยู่ในอุตสาหกรรมประเภท

    3D คือ Dirty, Difficult, Dangerous

    อยู่กับดินสกปรกเลอะเทอะ ทำไปกว่าจะฝึกฝนให้ชำนาญค่าแรงก็น้อย แถมเครื่องมือบางอย่างก็อันตราย มันไม่มีแรงงานรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน

    เอาตรง ๆ ทุกวันนี้จ้างถึงอัตราค่าแรงขั้นต่ำกันไหม?

    ทุกวันนี้ ผมเดินตลาดนัดจตุจักรเห็นเซรามิกวางขายตามร้านต่าง ๆ เดินเข้าไปถามราคาขายก็รู้แล้ว จ้างไม่ถึงค่าแรงขั้นต่ำ แต่ที่โรงงานเงียบ ๆ ก็เพื่อโรงงานอยู่ได้ และพนักงานก็ยังมีงานทำอยู่ ก็อยู่ ๆ กันไป

    การเงิน และการบัญชี

    หากเราเรียนบริหารธุรกิจ มักจะถูกสอนอยู่เสมอว่า การเงินที่มีสภาพคล่องสูง และการบัญชีที่แม่นยำ เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด ซึ่งแน่นอนว่า โรงงานเล็กที่เกิดขึ้นนั้นมาจากชาวบ้าน ทำให้ไม่มีรู้เรื่องเกี่ยวกับการเงินและการบัญชี พอไม่รู้เรื่องนี้แล้ว บวกการทุ่มตลาดเรื่อย ๆ ทำให้เป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้การเงินติดลบ

    พอการเงินติดลบโดยไม่รู้ตัวก็เริ่มมีความรู้สึกชักหน้าไม่ถึงหลัง หรือที่เราเรียกกันในเชิงธุรกิจคือ “ขาดสภาพคล่องทางการเงิน” พอขาดสภาพคล่องทางการเงินก็จะพยายามหาเครื่องมือทางการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ และแน่นอนว่า เมื่อเราจะกู้ธนาคาร จนธนาคารไม่ให้กู้แล้ว โรงงานต่าง ๆ ก็จะใช้เครื่องมือทางการเงินนอกระบบ คือ “หนี้นอกระบบ”

    การเมือง

    การเมืองในระดับประเทศ

    ตั้งแต่ผมเกิดมา ประเทศไทยเรามีปฏิวัติทางการเมืองเฉลี่ยทุก ๆ 10 ปี แล้วครั้งที่เจ็บที่สุดคือ ปี 2558 ตอนนั้นประเทศไทยกำลังเจรจาเขตการค้าเสรี Thai-EU ซึ่งเป็นความหวัง ลูกค้ายุโรปหลาย ๆ คนที่เราค้าขายกันอยู่รอคอย พอเกิดปฏิวัติเท่านั้นแหละ ลูกค้าหนีกระเจิง จนตอนนี้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว มีข่าวว่า การเจรจาเดินหน้าต่อแล้ว เราก็หวังว่า มันจะเจรจาเสร็จเร็ว ๆ นี้

    การเมืองในระดับกิจการ

    การรวมกลุ่มสมาคม คลัสเตอร์ ชมรม หรือกิจการร่วมค้าต่าง ๆ ของเซรามิคลำปางก็เกิดอย่างหลวม ๆ เพื่อมีพลังอำนาจในการต่อรองเรื่องต่าง ๆ ซึ่งพอท้ายที่สุดแล้วเมื่อเสร็จเป้าหมายตามที่จุดประสงค์ที่กลุ่มตั้งขึ้นแล้ว กลุ่มนั้นก็จะสลายไป ซึ่งมีน้อยมาก ๆ ที่จะยังรวมกันอยู่อย่างแน่นแฟ้น ทำให้เรายากที่จะเห็นกิจการโรงงานหลาย ๆ กิจการมารวมกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการค้า

    จากปัญหาสู่การแก้ปัญหา

    ถ้าพูดกันอย่างตรง ๆ และอาจจะฟังดูเลวร้ายก็คือ ให้ธรรมชาติคัดสรร เพราะผู้ที่อยู่รอดคือผู้ที่ปรับตัว แต่ถ้าให้พูดตรง ๆ เลย

    ผู้ประกอบการ

    ผู้ประกอบการต้องหยุด หยุดลดราคาทุ่มตลาด หยุดละเมิดลิขสิทธิ์สินค้าของผู้ประกอบการอื่น พัฒนาทักษะด้านวิชาการ และการค้า และพัฒนานวัตกรรมด้านการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาด และหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกลุ่ม ร่วมกิจการ เพื่อสร้างกิจการที่แข็งแกร่งมากขึ้น สร้างอำนาจในการต่อรองพ่อค้าคนกลาง หรือโอกาสในการตลาดที่มากขึ้น เรื่องแรงงาน เมื่อมีการเงินที่ดีค่าแรงอยู่ในระดับที่เหมาะสมก็จะเป็นแรงจูงใจให้กลับมาทำงานในอุตสาหกรรมนี้ต่อไป หรือทางออกสุดท้ายก็อาจจะต้องเป็นแรงงานต่างชาติ ส่วนตัวแดน แดนพร้อมที่จะคว้าโอกาสเสมอ ผู้ใหญ่ท่านหยิบยื่นมาให้รับหมดครับ เพราะแดนมี passion ตรงนี้เสมอ

    รัฐบาล และกฎหมาย

    รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาให้ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้เมื่อมีผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายสามารถลงโทษผู้ละเมิดได้ ทำให้ไม่เกิดการละเมิดอีก

    เร่งรัดการเจรจาเขตการค้าเสรีกับนานาประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการเจรจาการค้าของประเทศไทยที่มากขึ้น

    คนไทย

    1. หยุดต่อราคา เพราะการต่อราคา คือการกดราคา มันคือการตัดโอกาสการพัฒนาธุรกิจ
    2. ชาตินิยม คือ ส่งเสริม และใช้สินค้าไทย

  • รู้จักสามเหลี่ยมพีระมิดทางการเงิน

    รู้จักสามเหลี่ยมพีระมิดทางการเงิน

    ในโลกยุค VUCA (Volatility = ความผันผวน, Uncertainty = ความไม่แน่นอน, Complexity = ความซับซ้อน, Ambiguity = ความคลุมเครือ) ที่สถานการณ์เอาแน่เอานอนไม่ได้อย่างในปัจจุบันนี้ ทำให้เราต้องวางแผนชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการวางแผนการเงินก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น เงินเฟ้อ ค่าแรงต่ำ ค่าครองชีพสูง สังคมผู้สูงอายุ วิกฤตการเงิน และเหตุการณ์ต่าง ๆ นั้น ทำให้เราเก็บเงินได้ยากขึ้นนั้นเอง

    ดังนั้นในโลกการเงิน เราจึงมีทฤษฎีที่ว่า พีระมิดการวางแผนการเงิน หรือ Financial Planning Pyramid ซึ่งเป็นหลักสากลในการวางแผนการเงินนั้นเอง

    พีระมิดทางการเงิน คืออะไร?

    พีระมิดการวางแผนการเงิน หรือ Financial Planning Pyramid หรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า พีระมิดการเงินนั้น คือ แผนหรือโครงสร้างทางการเงินที่เรียงลำดับชั้นของความสำคัญก่อน-หลัง โดยจะค่อย ๆ วางรากฐานทางการเงินให้แข็งแกร่งดั่งพีระมิดอียิปต์ที่ตั้งตระหง่านกว่า 4,500 ปีมาแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้

    ส่วนที่ 1 การจัดการวางแผนใช้จ่ายและวางแผนหนี้สิน (Cash Flow Management)

    การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อทำให้เรารู้ว่า 1 เดือน เรามีรายรับจากทางใดบ้าง? และมีรายจ่ายไปทางช่องทางใดบ้าง? เพื่อนำไปใช้วางแผนสภาพคล่องทางการเงินต่อไป ซึ่งเราจะมีการวางแผนสภาพคล่องการเงินด้วยกัน 2 แบบใหญ่ ๆ คือ

    1. Active Cash Flow Planning คือ เพื่อวิเคราะห์ถึงความสำคัญของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และรู้ถึงสภาพคล่องการเงินของเราว่า ในอนาคตเรามีความต้องการใช้เงินจำนวนเท่าไหร่? ก่อนแล้วหาช่องทางการสร้างรายได้เพื่อให้เพียงพอต่อรายจ่ายต่อไป
    2. Passive Cash Flow Planning คือ นำรายได้จากช่องทางต่าง ๆ มารวมกัน แล้วแบ่งเงินออกเป็น 3 กองด้วยกัน เพื่อวางแผนสภาพคล่องทางการเงินต่อไป โดยใช้ส่วนต่าง ๆ กันไป บางคนอาจใช้สัดส่วน 40/30/30 หรือ 50/30/20 โดยจุดประสงค์ของแต่ละสัดส่วนมีดังต่อไปนี้
      • NEEDs คือ ค่าใช้จ่ายจำเป็น หรือค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าประกัน เป็นต้น
      • WANTs คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อความสุขส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า โทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์ ค่าสินเชื่อบัตรเครดิต เป็นต้น
      • SAVINGs คือ เงินสำหรับการเก็บออมเพื่อนำไปลงทุน โดยเงินออมก้อนแรกควรมีอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน โดยเป็นเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินบัญชีออมทรัพย์, กองทุนรวมตลาดเงิน, พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น เพื่อให้แปรรูปเป็นเงินสดได้เร็วที่สุด เผื่อเกิดเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดขึ้น

    ส่วนที่ 2 การป้องกันความเสี่ยง (Protection)

    คือการถ่ายโอนความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับแผนการเงินของเราไปไว้ที่อื่น ด้วยการใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีชื่อว่า “ประกัน” นั่นเอง

    โดยประกันจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

    • ประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance) คือ การคุ้มครองสินทรัพย์ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิต เช่น ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันการโจรกรรม เป็นต้น
    • ประกันชีวิต (Life Insurance) คือ การคุ้มครองการเสียชีวิต ทุพพลภาพ ด้วยโรคหรืออุบัติเหตุ ซึ่งประกันชีวิตแบ่งออกเป็น 4 แบบ ดังนี้
      1. แบบชั่วระยะเวลา (Term) คือ แบบประกันที่ให้ความคุ้มครองระยะสั้น ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เบี้ยประกันถูก แต่เป็นเบี้ยจ่ายทิ้ง ต้องเสียชีวิตเท่านั้น คนข้างหลังถึงจะได้รับเงินทุนประกัน ซึ่งเหมาะกับคนที่ชีวิตมีความเสี่ยงในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง และต้องการเพิ่มความคุ้มครองชีวิตในระยะเวลานั้น
      2. แบบตลอดชีพ (Whole Life) คือ แบบประกันที่ให้ความคุ้มครองระยะยาว 90 หรือ 99 ปี แต่จ่ายเบี้ยสั้น อยู่ครบสัญญาหรือเสียชีวิตก็จะได้รับเงินทุนประกัน เหมาะกับคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือคนที่ต้องการทำประกันสุขภาพก็สามารถซื้อประกันแบบนี้แล้ว เพิ่มค่ารักษาพยาบาล เข้าไปได้เลย
      3. แบบสะสมทรัพย์ (Endowment) คือ แบบประกันที่เน้นการออมเงินที่ได้รับความนิยม จะได้รับเงินก้อนเมื่อครบสัญญาหรือเสียชีวิต ซึ่งเหมาะกับคนที่ต้องการการคุ้มครองพร้อมออมเงินแต่รับความเสี่ยงได้น้อย
      4. แบบบำนาญ (Annuity) คือ คือ แบบประกันที่จ่ายเบี้ยจนถึงอายุ 55 หรือ 60 ปี หลังเกษียณจะได้รับเงินบำนาญคล้าย ๆ สวัสดิการข้าราชการ ซึ่งเหมาะกับการออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ

    จากแบบประกันประเภทต่าง ๆ ต่างก็มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างไป และมีอนุสัญญาที่เพิ่มความคุ้มครองในเรื่องการประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง ประกันการขาดรายได้ ประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น ดังนั้นเราจึงควรศึกษาและเลือกให้ตรงกับโจทย์ชีวิตของแต่ละคน ซึ่งบางคนอาจมองว่า ไม่ค่อยสำคัญ เนื่องจากคิดว่าตนเองนั้นยังมีสุขภาพที่ดีอยู่ และมองว่าเป็นภาระค่าใช้จ่าย แต่อย่างน้อย ๆ ประกันคือเครื่องมือที่ช่วยปกป้องความเสี่ยง และคุ้มครองเราจากหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตของเราได้

    ส่วนที่ 3 การออมและการลงทุน (Saving & Investment)

    เมื่อส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 มั่นคงแล้ว เราก็นำเงินมาลงทุนต่อยอดโจทย์ และเป้าหมายชีวิตของแต่ละคนกันต่อ โดยเราจะแบ่งเป้าหมายโดยใช้ระยะเวลาเป็นตัวชี้วัดได้ 3 ระยะเวลา ได้แก่

    • ระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) เช่น การเรียนต่อ ท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น เราก็ต้องลงทุนแบบระมัดระวัง เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง อย่างบัญชีเงินฝากประจำ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน
    • ระยะกลาง (2-5 ปี) เช่น การแต่งงาน ซื้อบ้าน ซื้อรถ เริ่มธุรกิจส่วนตัวใหม่ เป็นต้น เราก็จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลาง อย่างกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมผสม
    • ระยะยาว (5 ปีขึ้นไป) เช่น การเกษียณอายุ การศึกษาบุตร เป็นต้น เราก็จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูง ในรูปแบบของการสะสมทรัพย์ อย่างประกันบำนาญ, กองทุนรวม RMF, หุ้นพื้นฐานดีหรือหุ้นปันผล, กองทุนรวมหุ้น, อสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ
    Blue Piggy Bank

    ส่วนที่ 4 การวางแผนการศึกษาของบุตร และการเกษียณ

    เมื่อเราดำเนินชีวิตมาระยะนึง เราสร้างครอบครัวมีบุตร ธิดา แล้ว การวางแผนการศึกษาของเขาเป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนเลย เพราะหากคุณเป็นอะไรขึ้นมา พวกเขาจะยังคงมีทุนทรัพย์ในการเรียนต่อไปหรือไม่? หากไม่มี ชีวิตพวกเขาคงจะเดือดร้อนไม่น้อย ดังนั้นเราจึงมีเครื่องมือที่เรียกว่า “ประกันชีวิต” ที่จะใช้ประกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

    การวางแผนเกษียณเพื่อเราจะยังคงมีสินทรัพย์เหลือใช้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตในช่วงสุดท้าย และเพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ดังนั้นการวางแผนประกันสุขภาพระยะยาว หรือ Long Term Health Care ก็มีความสำคัญที่จะทำให้คุณไม่มีภาระในช่วงเกษียณ เพราะเราจะวางแผนให้เงินทำงาน แล้วนำเงินที่ออกผลมาจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพให้กับคุณ

    ส่วนที่ 5 การวางแผนมรดก (Deliver your legacy)

    เมื่อเราย่างเข้าสู่บั้นปลายชีวิต เราก็จะต้องมีการส่งมอบสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ให้แก่ลูก หลาน หรือที่เราเรียกว่า การจัดดการมรดก ต่อไป ซึ่งในปัจจุบันเราสามารถทำได้หลายวิธีเช่น การทะยอยส่งมอบเป็นครั้ง ๆ ไป หรือ การทำพินัยกรรม ซึ่งวิธีเหล่านี้ล้วนมีเรื่องของภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งเราในฐานะที่ปรึกษาการเงิน หรือนักวางแผนการเงิน ก็จะใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารจัดการเงิน เพื่อบริหารจัดการภาษีมรดก เพื่อให้สินทรัพย์ที่เราสร้างขึ้นมายังคงอยู่กับเราต่อไป

    โดยสิ่งที่เป็นผลพลอยได้ระหว่างทางที่เราวางแผนการเงินคือ ผลประโยชน์ทางด้านภาษี หรือ การบริหารจัดการภาษี นั้นเอง

  • การขนส่งในลำปาง

    การขนส่งในลำปาง

    ผมเคยตั้งคำถามกับการขนส่งภายในจังหวัดลำปางว่า

    “ทำไมลำปางมีต้นทุนในการเดินทางสูงจัง? ทั้ง ๆ ที่ลำปางมีทางรถไฟพาดผ่าน และการขนส่งทางรางนั้นมีต้นทุนต่ำ”

    เช่น การเดินทางไปเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง น้อง ๆ ยังต้องเดินทางไปเรียนโดยรถโดยสารของทางมหาวิทยาลัยฯ จัดให้ ทั้งที่ด้านหลังของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ติดกับรางรถไฟ

    ถ้าหากด้านหลังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เป็นสถานีรถไฟที่นักศึกษาสามารถนั่งมาเรียนได้จากสถานีรถไฟนครลำปาง มันคงจะดีไม่น้อย ที่นักศึกษาที่เป็นอนาคตของลำปาง อนาคตของประเทศไทยที่จะมีสวัสดิการที่ดี สามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างตรงเวลา

    และมันคงจะดีกว่านี้ ถ้าหากชาวบ้าน หรือผู้คนที่มาเที่ยวในจังหวัดลำปางสามารถเดินทางระหว่างอำเภอที่มีรางรถไฟพาดผ่านทุก ๆ 30-60 นาที จริงไหม?

    แต่หลาย ๆ คนก็จะบอกว่า ก็ลำปางกำลังจะมีไง? รถไฟทางคู่กำลังจะมา ครับ รถไฟทางคู่กำลังจะมาแต่ไหนล่ะครับ? รถไฟทางคู่ที่เราคาดหวังคือ ปี 2571-2575 โน้น แล้วลำปางรอได้หรือครับ? ลำปางรอดไม่ได้ ลำปางต้องไปต่อ นี่คือโอกาสของลำปาง

    ดังนั้นลำปางอาจจะต้องการกองทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับลำปาง หรือ Lampang Infrastructure Fund ที่ลงทุนในโครงสร้างทางราง สร้างรางรถไฟทางคู่ สร้างสถานีขึ้นมาภายในจังหวัดลำปาง และกองทุนนี้อาจรวมไปถึงการก่อสร้างลานตู้คอนเทนเนอร์แบบแห้ง เพื่อเป็นโอกาสในทางการค้าของลำปาง

    หลังจากนั้นมีการหาองค์กรเพื่อจัดหารถมาเดินรถภายในจังหวัดในระยะยาวแล้ว

    ระยะแรก อาจเป็นขบวนรถไฟดีเซลรางที่มีตู้เดียวที่มีห้องขับด้านหัว-ท้ายขบวน เพื่อไม่ให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูง เหมือนภาพด้านล่าง

    Wanman (one-man) train car

    หลังจากนั้น เราจะสามารถต่อเติมการเดินทางภายในจังหวัดลำปาง และสามารถส่งเสิรมการท่องเที่ยวในจังหวัดลำปางได้ดีกว่าปัจจุบัน เพราะสิ่งที่ลำปาง และหลาย ๆ จังหวัดในประเทศไทยกำลังขาดแคลนคือ การคมนาคมที่มีมาตรฐาน ตรงเวลา เชื่อถือได้ ปลอดภัย และประหยัด หากแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ จะทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยงเมืองรองมากขึ้นครับ

  • เมื่อ IKEA ให้อุปกรณ์มาไม่ครบทำอย่างไรดี?

    เมื่อ IKEA ให้อุปกรณ์มาไม่ครบทำอย่างไรดี?

    เรื่องมีอยู่ว่า ผมได้ไปซื้อเก้าอี้สตูลชื่อ MARIUS (มาริอุส) ที่อิเกีย (IKEA) บางนา แล้วบังเอิญว่า สกรูที่ให้มาในถุงนั้น มันมีไม่ครบ คราวนี้ก็ว้าวุ่นเลย ทำยังไงดี?

    ส่งอีเมล

    ผมก็เริ่มจากเปิดเว็บไซต์ ikea.co.th เลื่อนลงมาล่างสุด คลิก “ติดต่อเรา” ก็จะเจอกับหน้าจอข้อมูลการติดต่อ ซึ่งเจออีเมลพอดีเลย

    หลังจากนั้น ก็เขียนอีเมลถึง [email protected] ว่า เราได้สกรูมาไม่ครบนะ

    หลังจากนั้น ผ่านไป 2 วัน ก็มีอีเมลตอบกลับมาขอรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น หมายเลขคำสั่งซื้อ หรือใบเสร็จรับเงิน และยืนยันรหัสสินค้าที่ได้รับไม่ครบ

    แต่ด้วยความใจร้อนของผม ในขณะที่อิเกียกำลังร่อนอีเมลถึงผมอยู่นั้น ก็สวนกับผมที่กำลังบึ่งรถจากห้าแยกลาดพร้าวเพื่อไปอิเกีย บางนา เพื่อเอาไปสกรู

    พอไปถึงที่อิเกีย บางนา และกดคิวบริการหลังการขายแล้ว ก็รอสักพักจนคิวเรียกถึงผม ก็เข้าไปคุยถึงปัญหาว่า ได้รับสกรูไม่ครบนะ ก็พนักงานเก้าอี้สตูลเข้าไปข้างช้อปแล้วก็เพื่อขันสกรูให้ และก็มีพนักงานออกมาพร้อมกัน 2 คน พร้อมเก้าอี้สตูลของผมและถุงพลาสติกอีกถุงซึ่งมีสกรูอยู่ในนั้น 1 ตัว แล้วถามผมว่า คือพี่ใช่ไหม? ที่อีเมลมาแจ้งว่า ขาดสกรูไป 1 ตัว หนูพึ่งส่งอีเมลไปเมื่อตะกี้นี้เอง… ผมก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเพื่อเช็คอีเมล แล้วก็ยิ้มและตอบไปว่า ใช่แล้วครับ

    สุดท้ายแล้ว มันคือบริการอันน่าประทับใจของอิเกีย ที่ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มันก็ทำให้เราประทับใจอย่างไม่มีวันลืมเลือน

  • ทำไมผลิตภัณฑ์แอปเปิ้ลถึงแพง?

    ทำไมผลิตภัณฑ์แอปเปิ้ลถึงแพง?

    “หลายคนบอกว่า สินค้าของแอปเปิ้ลมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพดีกว่าคู่แข่ง การออกแบบดีกว่าคู่แข่ง”

    แต่ในทางการตลาดแล้ว เราเรียกว่า ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ที่เปลี่ยนสู่คำว่า สมนาคุณ และคำว่า “สมนาคุณ” นี่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า “ภาษีแอปเปิ้ล” หรืออาการที่คุณอยากจะจ่ายมากขึ้น ถ้ามันคือยี่ห้อ “แอปเปิ้ล” (more…)